Welcome


images by free.in.th
images by free.in.th

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

GMO คืออะไร

GMO คืออะไร" ใน สมัยก่อนเรียก GMO ว่า Transgenic organisms ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาใหม่โดยการตัดต่อยีนส์ จากสิ่งมีชีวิตอื่น เข้าไปในสิ่งมีชีวิตนั้นๆ และยังอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงยีนส์โดยการทำ cell fusion หรือการใช้การฉายแสงรังสี เพื่อเลือกลักษณะพันธุกรรมที่ต้องการ นั่นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมโดยมนุษย์เป็นคนทำ จึงได้เปลี่ยนมาเป็น GMO โดยเป็นคำย่อจาก Genetically Modified Organisms บางแห่งก็เรียก Living Modified Organism (LMO) หมายความว่าได้สิ่งมีชีวิตที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมไปและยังมีชีวิตอยู่ การใช้ Transgenic System ในการที่จะสร้างสิ่งต่างๆที่เราต้องการนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ค่อนข้างมาก

การศึกษา GMO ในสัตว์เพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่งจะทำได้อย่างไร การทำ transgenic mice เป็นการสร้างหนูที่มียีนส์อย่างอื่นเข้าไป modelการทำในห้องปฎิบัติการ มีหลักการคือ นำหนูมาผสมพันธุ์กัน เพื่อให้ได้ไข่ที่ได้รับการผสม (fertilized egg) จาก fertilized egg นำยีนส์ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง ฉีดเข้าไปใน nucleus เช่น ถ้าต้องการเปลี่ยน growth hormone ก็นำยีนส์growth hormoneฉีดเข้าไปเมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะนำไข่ไปฝากในหนูอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นหนูที่ทำให้ตั้งท้องเทียม (pseudopregnant) เมื่อนำไข่ที่มียีนส์ใหม่ใส่เข้าไป สิ่งที่ออกมาจะได้ลูกหนูซึ่งจะมี DNA ที่ใส่เข้าไป ก็ต้องไปวิเคราะห์ว่า เมื่อ integrate เข้าไปแล้ว มี copy number เป็นอย่างไร มี expression เป็นอย่างไร ซึ่งมีขั้นตอนมาก ในการทำ transgenic animal ก็จะทำแบบนี้ ส่วนรายละเอียดนั้น บางครั้งอาจมี variationได้ ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสม แล้วฉีดสเปอร์มเข้าไป เอายีนส์ฝากเข้าไปในสเปอร์ม หรือเข้าไปในไข่ จะเป็นการเพิ่มยีนส์เข้าไป ซึ่งจะเป็นการสร้าง transgenic mice เช่นเดียวกัน ลักษณะอย่างนี้เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ โดยการฉีดยีนส์เข้าไป และเป็นยีนส์เพื่อใช้ในการทดลอง และเมื่อจะสร้าง transgenic animalในสัตว์ชนิดอื่น ก็จะใช้หลักการในลักษณะเดียวกันนี้ เช่นนำไปใช้ในการสร้างหมู (pig) ซึ่งมี growth hormone โดยการฉีดยีนส์growth hormone เข้าไปในหมู จะพบว่าหมูโตเร็วกว่าปกติ มีไขมันน้อย มีเนื้อสูง แต่พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เช่นพบว่าหมูเป็นเบาหวาน และยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ในปลาก็เช่นเดียวกัน ในปลาจะทำได้ง่ายกว่า เมื่อฉีดยีนส์เข้าไปในไข่แล้ว สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้เลย ในปลามีการฉีด growth hormoneเข้าไป เช่น ปลาซาลมอน พบว่าทำให้ปลาซาลมอนมีขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้การ สร้าง transgenic pig เพื่อทำให้ร่างกายมนุษย์ไม่ปฎิเสธ (reject) อวัยวะของหมู เมื่อนำอวัยวะหมูมาปลูกถ่ายอวัยวะในคน เป็นเรื่องในอนาคตที่มีความเป็นไปได้สูงมาก

สรุปว่าการสร้าง GMO หรือ LMO แพร่หลายและมีขอบเขตกว้างขวาง ต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคน โดยเฉพาะในสัตว์จะมีเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างจากพืช

ข้อควรระวังเกี่ยวกับ GMO
ข้อควรระวังเกี่ยวกับ GMO และนโยบายเกี่ยวกับ GMO ของประเทศในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ไทย GMO คือ สิ่งที่มีชีวิตที่ถูกตัดแต่งทางพันธุกรรม ด้วยกรรมวิธีตัดต่อยีนส์ ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมหรือ Genetic Engineering แต่ก่อน GMO อยู่ในห้องปฎิบัติการเป็นส่วนใหญ่และจะออกมาในภาคสนามบ้างก็มีการควบคุมของนักวิชาการที่ได้ระมัดระวังเป็นอย่างดี ในการตัดต่อยีนส์นั้นอาจมีสารพันธุกรรมที่แปลกปลอมปนเข้าไป มี promoter มีการคัดเลือก recombinant clone จะต้องมี selection marker ที่แพร่หลายมาก ก็คือ marker ที่มีการต้านยาปฎิชีวนะ ในปัจจุบันมีสินค้า ทั้งพืชและสัตว์ ที่มาจาก GMO เช่นการใช้ chymosan enzyme หรือที่เราเรียกว่า rennet ซึ่งปกติได้มาจากลำไส้ลูกวัว หรือ ลูกแพะ สกัดออกมาเพื่อที่จะใช้ในขบวนการทำเนยแข็ง ทำให้ต้นทุนต้นทุนการผลิตเนยแข็งสูงมาก เพราะกว่าจะได้ rennet หรือ chymosan ออกมา ต้องเอาลำไส้มาผ่านขบวนการมากมายกว่าจะได้ chymosan นักพันธุวิศวกรรม จึงได้ clone ยีนส์ เพื่อสร้าง chymosan ในเชื้อรา Aspergillus niger ซึ่งเมื่อได้ recombinant clone แล้ว จะสามารถผลิตเชื้อราเป็นอุตสาหกรรมเพื่อผลิต chymosan ทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนการผลิตได้มาก สินค้าที่มาจาก GMO ประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ขายได้ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2537 ในปีเดียวกันนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผลิตมะเขือเทศ GMO ออกมา สาเหตุที่ต้องผลิตมะเขือเทศ GMO ออกมาเนื่องจาก มะเขือเทศเมื่อเก็บตอนสุกแล้ว จะสุกงอมเร็วมาก เละ เหลว การที่มะเขือเทศสุกได้เพราะ มะเขือเทศที่แก่จัดจะสร้างสาร ethylene ด้วยความรู้ดังกล่าว นักพันธุวิศวกรรม จึงพยายามทำให้มะเขือเทศมีการสร้าง ethylene อย่างช้าๆ ทำให้มีการสุกงอมช้า ทำให้มะเขือเทศมีเนื้อแข็ง ไม่เละเหลว สามารถส่ง transgenic tomato ไปขายในที่อื่นที่อยู่ไกลออกไปได้ สิ่งเหล่านี้ใช้เป็นประโยชน์ในทางการค้า

ทำไม เราต้องสนใจ GMO
การตกแต่งพันธุ์พืชมีจุดประสงค์เพื่อ สร้างความทนทานต่อแมลง โรคพืชอื่นๆ เพิ่มความทนทานต่อยาฆ่าวัชพืช มีเอกชนบางบริษัท ได้ผลิตยาฆ่าวัชพืชขึ้นมา ถ้าพืชผักไม่ทนทานต่อยาฆ่าวัชพืช พืช (ที่เราปลูก) จะถูกฆ่าไปด้วย ทำให้มีการผลิตพืชที่สามารถต้านยาฆ่าวัชพืชได้ การผลิต GMO อีกประเด็นก็เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณค่าทางอาหาร เช่นทำให้มีวิตามินมากขึ้น หรือมีกลิ่นหอมมากขึ้น และคุณสมบัติอื่นๆ เพื่อให้เหมาะกับการตลาด การแปรรูป เป็นต้น ทำไม เราต้องสนใจ GMO ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เราพัฒนาการส่งออกได้ด้วยสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ พืช สัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ และ พืชเหล่านั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ผลิตอาหารอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา อีกประเด็นหนึ่งคือ ผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์โลกทางด้านวิชาการ การตลาด การค้าระหว่างประเทศ ข้อกำหนดและวิธีการต่างๆ เช่นสหภาพยุโรป มีข้อกำหนดว่าสินค้าใดมาจาก GMO จะเข้าได้หรือไม่อย่างไร ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงแน่นอน อย่างไรก็ตามนักวิชาการภาครัฐ เอกชน หรือผู้ประกอบการ อาหารสัตว์ หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ หรือ พืช ต้องให้ความสนใจ

การพัฒนา GMO มีมานานแล้ว ในสมัยก่อนถ้าอยากจะได้สายพันธุ์วัวสายพันธุ์หนึ่ง เช่น ใช้แม่วัวพันธุ์ดี เอาสายพันธุ์จากยุโรป มา crossmating กับ สายพันธุ์พันธ์พื้นเมือง เพื่อให้ได้แม่วัวที่ผลิตน้ำนมดีขึ้น ติดลูกง่าย มีลูกดก ให้น้ำนมเยอะ ให้น้ำนมมีคุณภาพดี ทนโรคแมลง ทนโรคเขตร้อน การทำ animal selection แบบนี้ช้ามากกว่าจะได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมอย่างที่เรามุ่งหวัง เมื่อรู้ว่า ยีนส์ หรือ DNA หรือ รหัสชีวิต จะ manipulate ได้อย่างไร สามารถใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม ที่จะนำยีนส์ที่พึงประสงค์มาตัดต่อให้ หรือใส่เข้าไป ก็จะได้ลูกวัวที่จะโตเป็นแม่วัวที่มีลักษณะพึงประสงค์
ประโยชน์จาก GMO
1). ปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านแมลง และโรค
1.1 พันธุ์พืชต้านทานแมลง เป็นที่ทราบกันดีว่า แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt) สามารถผลิตสารชีวภาพที่เมื่อนำมาฉีดพ่นคล้ายกับสารเคมีอื่นๆ สามารถฆ่าแมลงกลุ่มหนึ่งอย่างได้ผล ดังนั้นเพื่อลดการใช้สารเคมี นักพันธุวิศวกรรมจึงได้นำยีนส์จาก Bt มาปลูก หรือถ่ายฝากให้แก่พืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ฝ้าย ข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นต้น ทำให้พืชสายพันธุ์ที่ได้รับการถ่ายฝากยีนส์นี้ มีความต้านทานแมลงได้เอง โดยไม่ต้องฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลงจากภายนอก และใช้ได้ในเชิงการค้ามาแล้วในหลายประเทศ
1.2 พืชพันธุ์ต้านโรคไวรัส
1.3 การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพผลผลิตที่พึงประสงค์ เช่นเรื่องมะเขือเทศที่สุกงอมช้าลง
1.4 การพัฒนาพันธุ์พืชให้ผลิตสารพิเศษ มีวิตามินมากขึ้น ผลิตสารต่างๆที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นพลาสติกย่อยสลายได้ โพลิเมอร์ต่างๆ
2. การพัฒนาพันธุ์สัตว์ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาอาหาร ผลจากประชากรของโลกที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ศักยภาพการเลี้ยงสัตว์ หรือพื้นที่ยังคงมีจำกัด หรือเท่าเดิม ด้วยเทคโนโลยี GMO ทำให้เรามีอาหารพอเพียงกับพลโลกที่เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าว AP ในวอชิงตันแถลงภายใต้หัวข้อว่า Gene Therapy yields bigger pigs ว่า "some days, hogs may not eat like pigs" ทั้งนี้เพราะ Professor Robert J Schwartz ซึ่งเป็น Professor of Molecular and Cellular Biology ที่ Baylor College of Medicine ที่ Houston แถลงว่าได้พบวิธีเปลี่ยนยีนส์ให้หมู แล้วทำให้ลูกหมูโตเร็วกว่าปกติ ถึงร้อยละ 40 (มีน้ำหนักหนัก 92 ปอนด์ หมูธรรมดาจะหนักเพียง 65 ปอนด์) และมีขนาดใหญ่กว่าหมูปกติ ในขณะที่กินอาหารลดลง 25% หมูเหล่านี้ขับถ่ายของเสียลดลงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรในสหรัฐอเมริกาพึงประสงค์ เพราะในหลายๆรัฐ ของเสียจากสุกรเป็นปัญหารบกวน ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากหมูแล้ว สัตว์อื่นๆ เช่น วัว สัตว์ปีก สัตว์น้ำต่างๆ ก็ถูกปรับปรุงพันธุ์ จุดประสงค์ส่วนใหญ่ ก็คือ โตเร็ว ใช้อาหารน้อย ค่าใช้จ่ายน้อยลง ทนทานโรคและแมลง ให้ผลผลิตมากกว่า เทคโนโลยีนี้เกษตรกรที่ผลิตสัตว์สนใจกันมาก ตัวอย่างสัตว์อื่นๆ เช่น วัวที่ทนโรคและแมลง ไข่ที่มีโคเลสเตอรอลน้อยลง ปลาทูน่าโตเร็วต้านทานโรค
3). การพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้มีคุณสมบัติพิเศษ เราใช้ GMO ในการวิจัยและอื่นๆ การผลิตจุลชีพที่สามารถนำไปผลิต live attenuated mutants ของสายพันธุ์ที่มีชีวิตที่ได้จากตัวที่ก่อโรค โดยทำการตัดยีนส์ที่ทำให้เกิดโรคออกไป เช่น Choleraและ โรทาไวรัส นอกจากนั้นยังสามารถรวมยีนส์ของจุลชีพหลายๆชนิดเพื่อผลิต hybrids เพื่อทำให้มี multipotent vaccine ได้
การผลิต vaccine component เช่นต้องการให้ผลิต adhesive factors มาก นำยีนส์ของการสร้าง fimbriae ใส่เข้าไป โดยมี promoter markers ผลิตส่วนประกอบของยา ผลิต insulin หรือผลิต clotting factors เพื่อการรักษาโรคเลือดออกต่างๆ รวมทั้งผลิตจุลินทรีย์ที่มีลักษณะพิเศษที่ใช้ย่อยคราบน้ำมันในทะเล เทคโนโลยีเดียวกันนี้อาจนำมาใช้ในการรักษา โดยใช้ gene therapy เป็นการใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมทั้งสิ้น
 
ตัวอย่างของพืช GMO

มะเขือเทศ
สุกช้า ไม่นิ่ม
     ประเทศที่อนุญาตให้ใช้บริโภคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา
ฟักทอง
ต้านไวรัส
     ประเทศที่อนุญาตให้ใช้บริโภคได้ เช่น สหรัฐอเมริกา
ถั่วเหลือง
ต้านวัชพืช
     ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์
มันฝรั่ง
ต้านแมลง
     ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่นและใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์


ฝ้ายที่ทนยาฆ่าวัชพืช Bacillus thuringiensis (Bt) มีความต้านทานแมลง โดยผลิตสาร ทนยาฆ่าวัชพืช มีในประเทศสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ประเทศไทยได้นำเข้ามาทดลองปลูก แต่เนื่องจากยังไม่มีระบบการควบคุม การกระจายไม่ให้ยีนส์หลุดออกไป จากพืชทดลอง ไปยังพืชอื่นๆ จึงยังทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้ปลูกเป็นอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการผลิตดอกคาร์เนชั่น ที่ทนทานและให้สีต่างๆ

สิ่งใดที่มีประโยชน์ย่อมมีโทษความปลอดภัยของอาหารที่มาจาก GMO มีมากน้อยแค่ไหน ทั้งในจุลชีพ พืช และสัตว์ เช่น การนำยีนส์จากแบคทีเรีย ตัวอย่างเช่น Bacillus thurigiensis ซึ่งควบคุมการสร้างสารพิษที่ฆ่าแมลงได้ใส่เข้าไปในพืชเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถสร้างสารพิษฆ่าแมลงได้เอง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงพ่นให้แก่พืชจากภายนอก เป็นต้น พืชเหล่านี้เรียกว่า พืชข้ามพันธุ์ หรือ Transgenic plant ในปัจจุบันมี Transgenic animals หลายชนิดด้วย ทั้งที่ใช้ผลิตอาหาร และที่ใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น การใช้transgenic mice ต่างๆ เป็นต้น
ข้อควรระวังเกี่ยวกับ GMO
เทคโนโลยีทุกอย่างเมื่อมีประโยชน์ก็มักจะมีโทษ พันธุวิศวกรรมที่นำมาใช้ตกแต่งสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก็เช่นกัน อาจมีผลทางลบต่างๆด้วย หากกระทำโดยไม่ระมัดระวัง กล่าวคือ GMO ที่ผลิตขึ้น อาจมีปัญหาต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) คือ

1.อาจมีปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์
2.มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
ในการตัดต่อยีนส์ ถ้าเป็นยีนส์จากสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน เช่น ยีนส์จากพืชถ่ายให้พืชย่อมมีปัญหาน้อย หรือ ยีนส์จากสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งไม่เป็นพิษภัยก็ไม่น่าจะก่อปัญหา โดยปกติยีนส์ที่ควบคุมลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งมักจะมียีนส์ช่วยแสดงหรือที่เรียกว่า promoter และเมื่อจะเลือกยีนส์ก็มักต้องใส่ยีนส์ช่วยการคัดเลือก คือ selection markers เช่น ยีนส์ต้านยาปฎิชีวนะเข้าไปด้วย มีคำถามว่ายีนส์เหล่านี้จะเป็นพิษเป็นภัยหรือไม่
ปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภคอาหารที่ได้มาจากGMO
1.ผลิตภัณฑ์จาก GMO ก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ เช่น หาก GMO มีสารพันธุกรรมจากไวรัส สารพันธุกรรมที่สร้างสารพิษ

2.อาหารที่มาจาก GMO มีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าที่มาจากสายพันธุ์ตามธรรมชาติหรือไม่
3.อาหาร GMO เช่น อาหารทะเล อาหารจากพืชตระกูลถั่ว ไข่ ซึ่งถูกตกแต่งพันธุ์โดยยีนส์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตอีกพวกหนึ่ง อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของอาการภูมิแพ้ เช่น ยีนส์จากถั่ว brazil nut ซึ่งนำไปเพิ่มคุณค่าโปรตีนในถั่วเหลือง พบว่าผู้บริโภคเกิดภูมิแพ้ต่อถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่นี้มาก
4.สำหรับการตกแต่งพันธุกรรมในสัตว์จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น ต้องมีการประเมินความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากกว่าของจุลินทรีย์และพืช 
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

สารพันธุกรรมที่ใช้ตกแต่งในสิ่งมีชีวิตอาจเกิดการแพร่กระจายและถ่ายทอดไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆได้หรือไม่ เช่น สารพันธุกรรมที่ใช้เป็นรหัสเลือก (selection markers) สร้างความต้านทานต่อยาปฎิชีวนะ สารพันธุกรรมที่ต้านยาปราบวัชพืช ซึ่งอาจทำให้เกิดการดื้อยาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะวัชพืช และจุลชีพอื่นๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมเหล่านี้

การแพร่กระจายความต้านทานต่อยาปฎิชีวนะ ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะ เชื้อโรคนั้นอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ยาปฎิชีวนะในการฆ่าเชื้อโรคเพื่อการรักษาโรค เพราะฉนั้นการนำและใช้ GMO จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในเรื่องนี้ให้มาก ซึ่งอาจมีคำถามในหลายเรื่องเช่น ความปลอดภัยทางชีวภาพ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ราคา การค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลความเสี่ยง ข้อมูลข่าวสาร ทำอย่างไรจึงจะสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้บริโภคหรือไม่ จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

เมื่อเราตัดต่อยีนส์ให้อยู่ผิดที่ผิดทาง เช่นใส่ยีนส์ของ Bacillus thuringiensis ซึ่งสามารถฆ่าแมลงได้ เช่น ฝ้ายสามารถสร้างสารพิษ ฆ่าแมลงได้เอง ถ้าผีเสื้อและผึ้งมาดอมดมฝ้ายนี้แล้ว ผึ้งจะตายหรือไม่ เป็นปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ
 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไม่สามารถไปเปรียบเทียบกับ FDA ของทางประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องความพร้อมของห้องปฎิบัติการและการกระจายไปในส่วนภูมิภาคต่างๆ ขณะนี้ห้องปฎิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ในระหว่างการเตรียมการและยังไม่สามารถเปิดให้บริการวิเคราะห์ทางด้านGMO การประเมินความปลอดภัยคงต้องอาศัยหลายหน่วยงาน รวมทั้งศูนย์พันธุวิศวกรรม ในหัวข้อGMO ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ยังไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา GMOที่ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่จะนำมาใช้เป็นอาหารและยายังอยู่ในระหว่างการทดลองทั้งสิ้น ที่จะผลิตมาเป็นยาและtherapeutics นั้นยัง อยู่ในระหว่างการทดลองเช่น antitrypsin การเอายีนส์ของคนใส่เข้าไปเพื่อให้มีโปรตีน therapeutic protein ที่ต้องการออกมากับน้ำนม การนำยีนส์ของคนใส่เข้าไปในหมูเพื่อให้ผลิต human growth hormone การนำยีนส์ของคนใส่เข้าไปในวัวเพื่อให้นมวัว กลายเป็นนมคน โดยการศึกษานั้นใช้วัวชื่อ Rosy สามารถให้น้ำนมที่มีamino acid ที่จำเป็นสำหรับทารกในการเจริญเติบโต และอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนาเพื่อผลิตในเชิงการค้า

ในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหาร เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ เพื่อกำกับดูแล GM Foods และจัดตั้งคณะทำงานติดตามข้อมูลข่าวสาร เตรียมการออกประกาศฉลาก (Labelling) ซึ่งยังรีรอ เรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้า เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป สำหรับ transgenic animal ที่จะผลิตยารักษาโรค therapeutic proteins สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาผลิต GM Crops โดยเกิดปัญหาขึ้นเมื่อไปจำหน่ายในกลุ่มสหภาพยุโรป แล้วไม่แสดงฉลาก ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เก็บตัวอย่าง อาหารที่เราสงสัยว่าอาจประกอบไปด้วยGMOรวม 15 รายการส่งไปที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมเพื่อช่วยวิเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำลังรอผลการวิเคราะห์ ตัวอย่างดังกล่าว

ปัญหาด้านจริยธรรม

การทดลองในสัตว์นั้นต่างกับพืช เรื่องที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องของจริยธรรม ซึ่งจัดเป็นเรื่องใหญ่และมีรายละเอียดมาก ตัวอย่างเช่น ในอนาคตจะมีการใช้อวัยวะของหมู GMOpigs เอามาถ่ายให้กับร่างกายของคน เนื่องจากหมูได้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้ร่างกายมนุษย์ไม่ปฎิเสธอวัยวะของหมูเพื่อใช้แก้ไขปัญหาและโรคในคน ในทางจริยธรรมจะว่ากันอย่างไร จะมองกันอย่างไรบ้าง จะมีข้อเสี่ยง(risk)อย่างไร ถึงแม้จะนำอวัยวะของสัตว์อื่นมาใช้ในการปลูกถ่ายและยังไม่เป็นGMO เมื่อข้อมูลข่าวสารออกไปภายนอก ก็ทำให้เกิดความกังวลค่อนข้างมากอยู่แล้ว ขอเรียนให้ทราบว่า ก่อนจะเป็น GMOที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ GMOในห้องปฎิบัติการจะต้องผ่านการทดสอบอย่างเคร่งครัด แล้วจึงจะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย การทดสอบอย่างเคร่งครัดนี้ จะทดสอบทุกอย่างเท่าที่จะทดสอบได้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีเรื่องของผลประโยชน์และข้อเสี่ยง ถึงแม้จะทำการทดสอบอย่างสมบูรณ์แล้วก็ยังมีข้อเสี่ยงอยู่และข้อเสี่ยงที่ว่าไม่มีใครทราบชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ GMO ที่ออกจากห้องปฎิบัติการแล้วนำออกมาใช้ข้างนอกยังมีข้อเสี่ยง ข้อเสี่ยงที่ว่านี้ทุกคนควรจะรับรู้ว่าเป็นของธรรมดา ทุกอย่างมีข้อเสี่ยงทั้งสิ้นขึ้นอยู่ว่าจะมากหรือน้อย ส่วนใหญ่แล้วข้อมูลที่พูดกันมากในเรื่องของ GMO ถ้ากรองข้อมูลอย่างวิทยาศาสตร์ ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ และยังคลาดเคลื่อนอยู่ค่อนข้างมาก 
ความคิดเห็นในเรื่องนโยบายGMO ของประเทศไทย จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์

1.นโยบายความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและมาตราการความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หน่วยงานรัฐบาลต้องมีมาตราการและแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับ GMO ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติในการให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการในระดับชาติที่มีอยู่แล้ว
2.นโยบายด้านการเกษตร ประเทศไทยต้องมีหลักการและแนวปฏิบัติในการควบคุมพืช และสัตว์ที่ได้รับการตกแต่งพันธุกรรมอย่างรัดกุม และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนการจัดระบบและวิธีการแยกสินค้าผลิตภัณฑ์จากGMO ออกจากผลิตภัณฑ์ปกติซึ่งอาจต้องลงทุนมาก
3.นโยบายการติดฉลากผลิตภัณฑ์จาก GMO การติดฉลากผลิตภัณฑ์จากGMO เป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และให้ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ การติดฉลากให้ชัดเจนจะทำให้ลดการต่อต้านผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้มาจาก GMO
4.นโยบายการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ GMO ประเทศไทยมีพื้นฐานที่มั่นคงด้านการเกษตรและการพัฒนาเศรษฐกิจก็ได้มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ดังนั้น การนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรบางอย่าง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้าส่งออก ผลิตภัณฑ์เกษตรบางอย่างที่นำเข้าอาจมาจาก GMO เช่น กากถั่วเหลือง หรือเมล็ดถั่วเหลือง การนำเข้าเพื่อผลิตเป็นเชิงอุตสาหกรรม จะต้องมีการควบคุม แยกแยะ และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้สินค้าส่งออกเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกเพราะเคยมีปัญหาสินค้าส่งออกจากประเทศไทยบ้างแล้ว
5.นโยบายด้านข้อมูล ข้อมูลเกี่ยวกับ GMO ออกมาจากแหล่งข่าวที่หลากหลาย ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นอกจากนั้นข้อมูลยังมีความสลับซับซ้อนมาก ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ และสับสน ผู้รับผิดชอบควรต้องพิจารณาและดำเนินการให้ผู้บริโภค-ประชาชน ได้รับข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องและเข้าใจง่าย เพื่อใช้ในการไตร่ตรองตัดสินใจว่าจะบริโภคหรือไม่
6.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการตกแต่งพันธุกรรม เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เพื่อให้สินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดใหญ่ เช่น อเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศไทยต้องพัฒนาตนเองหากสินค้าจะต้องแข่งขันกับบริษัทเหล่านี้ ในกรณีจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์GMO โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม ทั้งในด้านการเกษตร และการแพทย์ เราจำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อรองรับผลผลิตที่จะนำเข้ามา และส่งออกไป ตัวอย่างเช่น พัฒนาการตรวจสอบให้แม่นยำ รวดเร็ว และกว้างขวาง มีระบบการออกใบรับรองให้แก่ผู้ส่งออก อย่างไรก็ดีหากเราผลิตอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์ปกติได้ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ก็อาจจะได้ผลผลิตน้อย ต้นทุนแพง ไม่เพียงพอสำหรับตลาดโลกในอนาคต

ข้อมูลจากการอภิปรายจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาต่อไป ในขณะนี้เท่าที่ยังรีรอและยังไม่มีมาตราการอย่างใดออกมา เพราะงานลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย สำหรับประเทศไทยมีการ ผลิตอาหารออกไปขายที่สหภาพยุโรป การด่วนตัดสินใจอาจทำให้สูญเสียโอกาสหรือพลาดโอกาส เมื่อดูสถานการณ์ทั่วโลกแล้วยังไม่มีประเทศใดได้ดำเนินการที่เป็นชิ้นเป็นอัน และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็ต้องปฎิบัติตาม อย่างเช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้คือ Codex Alimentarious Commission ข่าวล่าสุดสำหรับเรื่องนี้คือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีสมาชิก 130 ประเทศเข้าร่วมประชุม รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ประเทศผู้ส่งออก GMO รายใหญ่ ได้มีการบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้น ที่เรียกว่า UN Food safety Pack ใน Protocolนี้มีใจความของเรื่องอยู่ด้วยกัน 16 ข้อ ข้อที่สำคัญ คือ
1..จะให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน Biosafety Clearing House เพื่อสำหรับให้ข้อมูล ด้าน GMO หากประเทศใดมีสินค้า GMO ต้องรายงานให้ทราบใน 15 วัน
2.ประเทศผู้ส่งออกจะจัดส่ง GMO ไปใช้หรือเผยแพร่ต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า AIA Advance Inform Agreement คือต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศผู้ส่งออก และประเทศผู้ซื้อสินค้านั้นๆก่อนแล้วจึงจะส่งสินค้าไปได้
3.สำหรับGMO ที่จะใช้เป็นอาหารคน หรือ อาหารสัตว์ หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร จะต้องมีระบบฉลากสินค้า ณ จุดส่งสินค้าออก เขียนไว้ว่า May contain GMO ถ้าประเทศใดไม่ปฎิบัติตามนี้ ประเทศที่ซื้อสินค้ามีสิทธิ์ที่จะทำลาย หรือส่งสินค้ากลับคืนไป
4.จะมีการประชุมเจรจาตกลงในรายละเอียดของฉลากโดยกำหนดให้เสร็จสิ้นใน 2 ปี

รายละเอียดอื่นๆเป็นเรื่องปลีกย่อย : ประมาณเดือนมีนาคมจะมีการประชุมของ Codex Alimentarious Commission ที่ประเทศญี่ปุ่น และคาดว่าผลการประชุมคงมีรายละเอียดมากขึ้นและคงต้องติดตามกันต่อไป ในเรื่องGMOนี้ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดบ่งชี้ว่ามีอันตรายกับอาหาร GMO หากมีหลักฐานที่แน่ชัดแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องดำเนินการตามบทบาทและกฎหมายที่มีอยู่

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรกับผู้ฟังการอภิปราย

1.คำนิยามของ GMO สิ่งที่มีชีวิตที่เกิดขึ้นทางพันธุวิศวกรรม และวิธีการอื่น เช่น cell fusion และการฉายรังสี ในความเข้าใจเดิมเข้าใจว่าเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมเท่านั้น เมื่อมาพิจารณาในวงกว้างคำว่า modified เป็นการดัดแปลง ถ้าเป็นวิธีการดั้งเดิม เช่น cross mating, crossbreeding เป็นการ ดัดแปลงของมนุษย์เช่นกัน แต่ไม่ได้ใช้ เทคโนโลยีชีวภาพ คำนิยามของ GMO ที่ชัดเจนควรจะขีดเส้นที่ตรงไหน

2.เป็นคำถามที่เกี่ยวเนื่องกัน จากประสบการณ์ที่ไปรับประทานอาหาร เดี๋ยวนี้มีปลาทับทิมติดป้ายแสดงสินค้าไว้ว่า ไม่ใช่ปลา GMO มีคำถามถึงความหมาย ตามที่ท่านวิทยากรได้บรรยายในช่วงต้นกล่าวถึงการนำ growth hormone และใช้จุลินทรีย์ในการผลิต แล้วเอา growth hormone ไปให้กับสัตว์ กรณีที่คนเข้าใจว่าปลาเป็น GMO หมายถึงปลาไม่ได้มีการให้ growth hormone ซึ่งอาจจะมาจากกรรมวิธีทางด้านพันธุวิศวกรรม ตรงนี้มีปัญหาเกิดความคลุมเครือของความหมายของ GMO กับคนทั่วไป ขณะนี้คนเริ่มสนใจและนึกว่าสัตว์ก็เป็น GMO ตามที่ท่านวิทยากรยกตัวอย่าง เกี่ยวกับหมูที่ให้ growth hormone ฟังดูเหมือนกับเป็นการนำยีนส์ที่ผลิต growth hormoneให้เข้าไปในหมู น่าจะเป็นคนละกรณีกันกับจุลินทรีย์ผลิต growth hormone แล้วเอาไปให้กับวัว เป็นต้น ถ้าเราตรวจสัตว์ที่ได้รับอาหารหรือยาที่เป็น GMO จะตรวจไม่ได้จากเนื้อเยื่อของสัตว์ ตรงนี้น่าจะมีการแบ่งแยกที่ชัดเจน

3.ข้อมูลข่าวสารเขียนโดย เมย์ แวน โฮ พูดถึง promoter 35 s ที่ใช้กันมากใน GMO โดยนำมาจาก cauliflower mosaic virus สามารถที่จะtransfer ได้ และไป function ในสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องการ แล้วทำให้เกิดผลกระทบกระเทือน ถึงต้องหยุดเลย ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันมากในวงการวิชาการอยากเรียนถามว่า 35s promoter น่าจะมีความเสี่ยงในระดับไหน
นิยามของ GMO อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับ หน่วยงาน ในความเห็นส่วนตัว GMO เป็นการดัดแปลง ยีนส์ของ สิ่งมีชีวิต ซึ่งทำโดยมนุษย์ แล้วจะเป็น GMO ต่อเมื่อสามารถถ่ายทอดยีนส์นั้นต่อไปยังลูกหลานของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อย่างนี้น่าจะเป็น GMO การดัดแปลงยีนส์ อาจเป็นการใส่ยีนส์เดี่ยวๆ หรือ ใส่ยีนส์ที่รู้อย่างชัดเจน อย่างนี้เป็นการตัดต่อยีนส์ทางพันธุวิศวกรรมที่รู้อย่างชัดเจน ส่วนที่สำคัญที่เป็นGMO ด้วยคือ สามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มียีนส์เปลี่ยนไปได้ แล้วก็ถ่ายทอดยีนส์ไปยังลูกหลานได้ โดยวิธีการอื่นเช่น วิธี cell fusion การฉายรังสีทำให้ยีนส์มีการเปลี่ยนแปลงไปและสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ จึงจัดเป็น GMO

การฉีด growth hormone เข้าไปในสัตว์ ไม่ใช่ GMO แน่นอน ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนเป็นโปรตีน DNA ของสัตว์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และสัตว์ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าวไปยังลูกหลาน ดังนั้นสัตว์ที่ได้รับฮอร์โมนไม่ใช่ GMO แน่นอน สัตว์นั้นจะเป็น GMO เมื่อเราฉีดยีนส์ของ growth hormoneเข้าไปในสัตว์อย่างที่ได้พูดถึง สัตว์นั้นได้มียีนส์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และยีนส์ที่เปลี่ยนแปลงจะส่งต่อไปยังลูกหลานต่อไป อย่างนี้ชัดเจน สัตว์นั้นจะเป็น GMO แน่นอน ในกรณีปลาทับทิม ไม่ทราบว่าที่ตัวโตนั้นมีได้หลายกรณี อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงของอาหาร ในความเห็นส่วนตัว ปลาทับทิมตัวโตไม่เป็น GMO อย่างไรก็ดีคงต้องทำการทดสอบ

เรื่องของ 35s promoter นั้น คงต้องทราบว่า35s promoter นั้นเป็น promoter ที่มาจากไวรัสของพืช ไวรัสมีมากมายหลายชนิด ไวรัสของพืช ไวรัสของสัตว์ และไวรัสที่มีการทำงานในพืชนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานในสัตว์ ทำนองเดียวกัน ไวรัสที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอันตรายต่อพืช มีไวรัสหลายชนิดที่มี promoter พิเศษ จะส่งคำสั่งให้จุลชีพที่มีการติดเชื้อนั้นมาสร้างโปรตีนที่ไวรัสต้องการได้ทั้งหมด ไวรัสมีความจำเพาะ นั้นคือ 35s promoter คิดว่าจะทำงานได้ดีในพืชต่างๆ เพราะเป็นไวรัสที่มาจากพืช เท่าที่ผมทราบยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า 35s promoter ทำงานได้ในสัตว์ ดังนั้นที่เกรงว่า 35s promoter จะไปออกฤทธิ์ในสัตว์นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นได้ประเด็นเดียวคือ เวลาทำ transgenic นั้น จะมีการแทรกของยีนส์อย่าง random คือไม่แน่นอนและไม่ทราบจะแทรกไปตรงไหน บางครั้งการแทรกของยีนส์อาจเข้าไปขัดขวาง ยีนส์ที่สำคัญของร่างกายคนหรือสัตว์ ทำให้ร่างกายคนหรือสัตว์นั้นเปลี่ยนไป เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการเกิดมะเร็ง สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ อาจมีไวรัสแทรกตัวเข้าไปใน DNA ของเรา ใน DNA ที่มีความจำเพาะ ไม่ใช่ว่าไวรัสแทรกตัวเข้าไปแล้วจะเกิดมะเร็งเสมอไป การแทรกตัวอย่างrandom นี้อาจทำให้เซลล์เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ สรุป ในความรู้เท่าที่มี 35 S promoter ไม่ทำงานในเซลล์ของสัตว์ เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นจากการแทรกตัวของยีนส์ เข้าไปอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ดีมีการศึกษาของ GMO ในขั้นการทดลอง หากพบว่ามีความผิดปกติ จะไม่มีการนำออกมาใช้ภายนอก เช่นเมื่อเป็น GMOแล้วอาจมีลักษณะของการสร้าง โปรตีนน้อยกว่าปกติ หรือ มากกว่าปกติก็ได้ ปกติแล้วหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่จะตรวจสอบว่า GMO นั้นมีลักษณะของ substantial equivalence หมายความว่า GMOที่ได้ทำการตรวจสอบนั้น สร้างสารเคมีเหมือนกับสิ่งมีชีวิตธรรมดา สิ่งมีชีวิตธรรมดาจะมีการสร้างสารเคมีสูง ต่ำ อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับสถานที่ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ดังนั้นถ้าตรวจสอบแล้วว่า GMO สร้างสารอะไรก็ตามอยู่ในช่วง(range) ที่สิ่งมีชีวิตนั้นๆ สร้างอยู่ ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่แล้วนี้ ถือว่ายอมรับได้ และถ้าต้องการทดสอบต่อไปอีกว่าสารนั้นไม่มีลักษณะการเป็นพิษ จะถือว่าเป็น GMO ที่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว


อ้างอิงจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น