Welcome


images by free.in.th
images by free.in.th

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

LCS เรือรบแห่งศตวรรษที่ 21

               ในบรรดาเรือรบสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตามองของแวดวงนาวีทั่วโลกในขณะนี้นั้น เห็นจะหนีไม่พ้น เรือรบรุ่นใหม่ล่าสุด อย่าง USS Freedom และ USS Independence เรือรบ 2 ลำใหม่ล่าสุดของนาวีสหรัฐฯ ที่ขึ้นระวางประจำการไปแล้วทั้งคู่ และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบขีดความสามารถอย่างเต็มกำลัง เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้ในการสร้างเรือในรุ่นต่อ ๆ ไป

USS Freedom

               ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีการขึ้นระวางประจำการเรือรบรุ่นใหม่ ๆ อยู่เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรือคอร์เวตชั้น Visby ของสวีเดน , เรือชั้น La Fayette ของฝรั่งเศส , เรือพิฆาต Type 45 ชั้น Darling ของราชนาวีอังกฤษ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเทคโนโลยีล่องหน หรือ Stealth แต่ก็ดูเหมือนว่า กระแสของเรือใหม่ 2 ลำข้างต้น จะกลบความร้อนแรงของเรือที่กล่าวมาไปได้หมด

USS Independence

               เหตุเพราะเรือทั้ง 2 ลำนั้น ก่อกำเนิดขึ้นจากแนวความคิดสุดล้ำ และเชื่อกันว่า ถ้ามันสำเร็จ จะเป็นการพลิกโฉมหน้าของการรักษาอธิปไตยทางทะเลของนาวีสหรัฐฯและของโลก จากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของเรือที่แปลกตา แต่ให้ผลเป็นเลิศในด้านการลดแรงเสียดทาน และมีคุณสมบัติล่องหน , แนวคิดเรื่อง Mission Package ที่จะทำให้เรือ 1 ลำสามารถปฏิบัติภารกิจได้ทุกภารกิจ , การลดกำลังพลในแนวหน้า (Unman  the Front Lines) โดยการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ รวมไปถึงการใช้ยานไร้คนขับในภารกิจต่าง ๆ , การจัดกำลังพลประจำเรือ 2 ชุด ผลัดเปลี่ยนกันทำให้เรือใช้งานได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ครบวงรอบการซ่อมบำรุงระดับโรงงาน และการใช้ระบบอำนวยการรบแบบเครือข่าย (Navy's Battle Management Grid)

               LCS หรือ Littoral Combat Ship เป็นเรือรบที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นต่อเนื่องจากชายฝั่งถึงทะเลเปิด ซึ่งเรือใหญ่อย่าง Cruiser (เรือลาดตะเวน) หรือ Destroyer (เรือพิฆาต) ไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติการได้ โดยมุ่งเน้นในการป้องกันการเข้าถึงชายฝั่ง และกำจัดภัยคุกคามแบบอสมมาตร (Asymmetric Threats) เช่น เรือผิวน้ำขนาดเล็กเคลื่อนที่เร็ว , เรือดำน้ำขนาดเล็ก (Quiet Diesel Submarine) และทุ่นระเบิดแบบต่าง ๆ

               จุดเด่นของเรือ LCS อันแท้จริง คือเรือสามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรือรบผิวน้ำ , เรือปราบเรือดำน้ำ , เรือยกพลขึ้นบก , เรือหาข่าว , เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และ เรือล่าและทำลายทุ่นระเบิด ด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาวุธ , อุปกรณ์สนับสนุนการรบ และเซนเซอร์ ในลักษณะของการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว (Swap) เหมือนการแต่งรถอย่างไรอย่างนั้น โดยในเบื้องต้นนั้น จะมี Mission Package อยู่ทั้งหมด 3 Package คือ การล่าทำลายทุ่นระเบิด (Mine Countermeasure) , การรบผิวน้ำ (Surface Warfare) และ การปราบเรือดำน้ำ(Anti Submarine Warfare) และจะมีเพิ่มเติมขึ้นอีกในอนาคต โดยแต่ละ package นั้น จะมาเป็นลักษณะของโมดูล โดยสามารถสลับสับเปลี่ยนจากโมดูลหนึ่งไปอีกโมดูลหนึ่งได้ภายใน 1 วัน และสามารถออกปฏิบัติภารกิจได้ทันทีหลังเปลี่ยนโมดูล

               นอกจาก Mission Package ที่เหมือนเป็น option แล้ว ตัวเรือยังมาพร้อมกับ คุณสมบัติหลักในการสนับสนุนการเคลื่อนที่เร็วจู่โจมอย่างเต็มที่ โดยประกอบไปด้วยลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือพิฆาตเสียอีก โดยโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์แบบ SH-60 หรือ MH-60S Seahawk ได้ถึง 2 ลำ รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับแบบ MQ-8B Fire Scout เพื่อใช้ในภารกิจลาดตระเวนหาข่าว , สอดแนม และสนับสนุนการรบ อีกหลายลำ

MH-60S Seahawk

MQ-8B Fire Scout

               ramp ท้ายเรือ และประตูข้าง สามารถปล่อยและเก็บเรือเร็วโจมตีแบบเรือยางท้องแข็ง และยานผิวน้ำไร้คนขับ แบบ AN/WLD-1 และยานใต้น้ำไร้คนขับ Bluefin 21 ได้ โดยประตูด้านข้างนั้นเป็นแบบ Roll-on/Roll-off Ramp คือสามารถเปิดสะพานทอดไปบนฝั่ง เพื่อลำเลียงยานเกราะของนาวิกโยธินหรือรถต่าง ๆ ขึ้นลง ได้อย่างสะดวกสบาย

ภาพแสดงประตูข้างแบบ Roll On Roll Off

               สำหรับยาน AN/WLD-1 เป็น USV (Unman Surface Vehicle) หรือยานผิวน้ำไร้คนขับควบคุมระยะไกล ซึ่งในการใช้งานจริง ๆ จะทำงานในลักษณะกึ่งดำน้ำ มากกว่าแล่นบนผิวน้ำ โดยส่วนตัวเรือจะจมอยู่ใต้น้ำโผล่ขึ้นมาเฉพาะเสารับสัญญาณเพียงเท่านั้น เพื่อป้องกันการตรวจจับด้วยสายตา AN/WLD-1 ติดตั้งระบบล่าและทำลายทุ่นระเบิดในตัว เรือทั้งสองแบบสามารถลากโซนาร์แบบ Tow Acoustic Array ทั้งแบบ Active และ Passive และสามารถหย่อน Dipping Sonar ได้ ซึ่งทำให้เรือสามารถใช้เทคนิคของโซนาร์ที่เรียกว่า Bistatic Sonar ได้ด้วย ซึ่งให้ความแม่นยำในเขตน้ำตื้นมากกว่า Monostatic Sonar ของเรือทั่ว ๆ ไป

AN/WLD-1

               Battlespace Preparation Autonomous Undersea Vehicle (BPAUV) Bluefin 21 เป็นส่วนประกอบใน Mission Package การปราบเรือดำน้ำ และการต่อต้านทุ่นระเบิด โดยยานลำนี้จะถูกปล่อยออกจากเรือแม่ เพื่อหาข้อมูลสภาพพื้นท้องทะเล ณ ขณะนั้น โดยอาศัยความสามารถของ side-scan sonar ขนาด 455 kHz และเมื่อเรือใหญ่ทำการเก็บกู้ Bluefin 21 ขึ้นมาก็จะทำการอัพโหลดข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางของ Mine Warfare and Environmental Decision Aids Library (MEDAL) เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไป

BPAUV Bluefin 21

               อาวุธหลักของเรือได้แก่ ปืนใหญ่ Mk-110 57 มม. ของ BAE Systems ติดตั้งอยู่บริเวณหัวเรือ และปืนกล .50 มม. 4 กระบอกทางด้านหัวและท้ายเรือทั้ง 2 กราบ และยังอาจจะมีโมดูลของ อาวุธปล่อยแบบ Non-Line of Sight Launch System (NLOS-LS) หรือที่รู้จักกันในชื่อ NETFIRES จำนวน 60 ลูก ซึ่งเป็นอาวุธปล่อยขนาดเล็กแต่มีความแม่นยำสูง ที่ใช้ในกองทัพบกสหรัฐฯ โดยได้กำหนดไว้ใช้สำหรับโจมตีเรือผิวน้ำความเร็วสูง ซึ่งแล่นปะปนอยู่กับเป้าอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ก็เป็นอาวุธประจำเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ตั้งแต่อาวุธปล่อย และตอร์ปิโด ไปจนกระทั่ง ระบบล่าทำลายทุ่นระเบิด

BAE Systems Mk-110 57 มม.

NLOS-LS NETFIRES

               เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการใหม่และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ดังนั้นทาง ทร.สหรัฐฯ จึงตัดสินใจที่จะให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการในลักษณะประกวดแข่งขัน คือ บริษัทใดสามารถต่อเรือที่มีสมรรถนะดีเยี่ยมที่สุด ก็จะได้รับการต่อสัญญาเพื่อสร้างเรือลำถัดไป โดยบริษัทที่ชนะการประมูลในการเป็นแม่งานในการต่อเรือต้นแบบ 2 บริษัทคือ บริษัท Lockheed Martin และบริษัท General Dynamics โดย Lockheed Martin ได้เสนอเรือแบบ Semi-Planning Monohull ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกับเรือปกติโดยทั่วไป โดยตั้งชื่อแบบของเรือลำนี้ว่า LCS-1 และ ทร.สหรัฐฯตั้งชื่อให้เรือลำนี้ว่า USS Freedom และบริษัท General Dynamics ได้เสนอแบบเรือแบบ Tri-Maran มีรหัสว่า LCS-2 และมีชื่อเรือว่า USS Independence

Platform แบบ Tri-Maran

               นอกจากความแตกต่างของ Platform แล้ว เรือทั้งสองลำยังมีความแตกต่างกันด้านการเลือกใช้เครื่องยนต์ในระบบขับเคลื่อน , ระบบอำนวยการรบ และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด อีกด้วย

               ทั้งสองบริษัทเลือกใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG (Combine Operation Diesel and Gastuebine)ไป ขับ Water Jet ในการผลักดันให้เรือขนาด 3,000 ตันแล่นไปข้างหน้า  แต่ใช้เครื่องจักรขับเคลื่อนแตกต่างกัน โดย Lockheed Martin เลือกใช้ เครื่องยนต์กังหันก๊าซของ Rolls-Royce MT30 ขนาด 36 MW จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องยนต์กังหันก๊าซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ และเครื่องยนต์ดีเซล Fairbanks Morse 2 เครื่อง และ Waterjet ของ Rolls-Royce จำนวน 4 เครื่อง ส่วน General Dynamics เลือกใช้ เครื่องยนต์กังหันก๊าซของ General Electric LM2500 จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องยนต์ดีเซล MTU 20V 8000 M90 2 เครื่อง ส่วน Waterjet เป็นของ Wärtsilä จำนวน 4 เครื่องเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 บริษัทสามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่า 45 Knots

Rolls-Royce MT30

MTU 20V 8000 M90MTU 20V 8000 M90
MTU 20V 8000 M90

               ระบบอำนวยการรบของเรือ USS Freedom เป็นของ Lockheed Martin เอง โดยเลือกใช้ระบบอำนวยการรบแบบ COMBATSS-21 ซึ่งเป็นระบบล่าสุดที่พัฒนาต่อมาจากระบบ Aegis ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเรือรุ่นใหม่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ มาก่อนหน้านี้ ส่วนเรือ USS Independence ใช้ระบบ อำนวยการรบของ Northrop Grumman , ICMS (Integrated Combat Management System)  ซึ่งทั้งสองระบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด (Open Architectural Design) ซึ่งหมายความว่า ระบบนี้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ หลาย platform ซึ่งเหมาะสมกับแนวความคิดเรื่อง Mission Package ซึ่งระบบอำนวยการรบทั้งสองแบบนั้น สามารถรองรับ Mission Package ได้ทุก package

               ทางด้านระบบป้องกันตนเอง ตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการติดตั้งระบบที่แตกต่างกันคือ ใน USS Freedom ติดตั้งเครื่องยิงจรวดแบบ RIM-116 RAM (Rolling Airframe Missile) ส่วน USS Independence ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด (CIWS Close-In Weapon System) แบบ SeaRam ซึ่งเป็นการนำเครื่องยิงจรวดแบบ RIM-116 RAM ติดตั้งเข้ากับระบบติดตามเป้าแบบ Phalanx ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดของเรือ ที่มีความทันสมัยมาก ๆ

RIM-116 RAM

SeaRam

               ด้วยขนาดของเรือที่มีระวางขับน้ำ 3,000 ตัน เรือ LCS กลับใช้กำลังพลที่น้อยมาก คือมีกำลังพลประจำเรือ 40 นาย บวกกับกำลังพลประจำแต่ละ Mission Package 15 นาย และแผนกการบินอีก 20-23 นาย ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างของเรือ LCS ที่ไม่ต้องใช้กำลังพลจำนวนมากในการปฏิบัติการ

               กำลังพลหลัก 40 นายนี้ สามารถปฏิบัติภารกิจหลักของเรือได้ทั้งหมด โดยอาศัยความช่วยเหลือของระบบอิเล็กทรอนิกส์อันชาญฉลาด ยกตัวอย่างเช่น ระบบเทียบเรือโดยไม่ต้องใช้เรือ Tug ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Harbor Moving” , ระบบ “Trigon Aircraft-Handling System” ที่ช่วยให้คนเพียงคนเดียว สามารถนำเฮลิคอปเตอร์จากดาดฟ้าบินเข้าไปเก็บในโรงเก็บเครื่องบินได้ , “Mission Bay” ซึ่งอยู่ใต้ดาดฟ้าบิน สามารถควบคุมการขนถ่ายสิ่งของ , เรือเล็ก , ยานใต้น้ำไร้คนขับ และอุปกรณ์อื่น ๆ ใน Mission Package ได้อย่างง่ายดาย

               กำลังพลหลักนี้ยังมีทั้งหมดถึง 2 ทีม โดยมีชื่อเรียกว่า “Blue Team” และ “Gold Team” ซึ่งจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติภารกิจ เป็นระยะเวลา 4 เดือนในแต่ละทีม ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เรือออกปฏิบัติภารกิจได้ตลอด 24 ชม. โดยไม่ทำให้กำลังพลเหนื่อยล้าและสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มขีดความสามารถ และสามารถใช้เรือได้คุ้มค่าสูงสุดตามหลักการของการส่งกำลังบำรุงรวม (Integrated Logistic Support , ILS)
               ในระหว่างนี้ เรือทั้ง 2 ลำกำลังอยู่ในช่วงการทดลองใช้งานจริง ซึ่งผลที่ได้จากการทดลองที่ดีที่สุดจะถูกนำไปใช้กับเรือลำต่อ ๆ ไป ซึ่งในขณะนี้ได้วางกระดูกงูไปแล้ว 2 ลำ คือ LCS-3 USS Fort Worth เป็นเรือในชั้น Freedom ต่อโดยบริษัท Lockheed Martin และ LCS-4 USS Coronado เป็นเรือในชั้น Independence ต่อโดยบริษัท General Dynamics ซึ่งหลังจากนี้ ทร.สหรัฐฯอาจจะพิจารณาเลือกใช้แบบจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งสามารถลดต้นทุนให้กับ ทร.สหรัฐฯได้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯลงทุนไปกับเรือทั้งสองลำนี้มากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยใช้ไปกับ USS Freedom เป็นจำนวน 637 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอีก 704 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ USS Independence โดยในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งต่อไป ทร.สหรัฐฯได้มีข้อตกลงเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับบริษัททั้งสอง ว่าหากบริษัทใดชนะการประกวดราคา บริษัทนั้นจะได้สัญญาต่อเรืออีก 10 ลำ ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี (ปีละ 2 ลำ) และบริษัทที่ 2 จะได้สัญญาต่อเรือ 5 ลำ แต่เป็นแบบของบริษัทแรกที่ชนะ

               ทั้งนี้ ทร.สหรัฐฯได้พิจารณาแล้วว่า มีความต้องการเรือ LCS จำนวน 55 ลำ เพื่อทดแทนเรือที่กำลังจะปลดประจำการจำนวน  56 ลำ ได้แก่ เรือฟริเกต FFG-7 ชั้น Oliver Hazard Perry  30 ลำ, เรือล่าและทำลายทุ่นระเบิด MCM ชั้น Avenger 14 ลำ และ เรือกวาดทุ่นระเบิด MHC-51 ชั้น Osprey 12 ลำ
ในอีก 5 ปีข้างหน้า โลกคงจะได้รู้กันว่า เรือรบรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ จะมีประสิทธิภาพและตอบสนองภารกิจของสหรัฐอเมริกาได้มากน้อยแค่ไหน และเรือชุดนี้ จะเป็นต้นแบบของการต่อเรือในยุคใหม่หรือไม่ คงต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

Media



LCS-1 USS Freedom



LCS-2 USS Independence





อ้างอิงจาก
1. SEAPOWER , Volume 51 , Number 10 , October 2008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น